เทคนิคการสร้างเครือข่ายการจัดการเรียนรู้
4.ปรับกระบวนการทรรศน์ใหม่จากการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งสู้การศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง
นักศึกษามากหลาย ผู้นำในสังคม ผู้นำทางการเมืองบางคน ผู้นำทางธุรกิจ รู้ว่าระบบการศึกษามีปัญหาและพยายามแก้ไข ปรับปรุง ปฏิรูป หลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่สามารถสร้างพลังให้ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาควรจะเป็นพลังการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด
ที่ไม่สามารถปรับปรุงหรือปฏิรูประบบการศึกษาให้ไปได้ไกลอย่างใจนึก เพราะยังติดอยู่ในมโนทัศน์ (ทิฐิ) เดิมมโนทัศน์ของการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งนั้นฝังรากลึกยาวนาน อยากที่จะสลัด กลัวที่จะสลัด เพราะได้สร้างเป็นระบบคุณค่าขึ้นไว้ในสังคม ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าวิชาไม่สำคัญควรละทิ้ง วิชามีความสำคัญแต่ไม่ใช่ตัวตั้ง เราต้องตั้งตัวตั้งให้ได้ แล้วเอาวิชามาเป็นตัวประกอบการเรียนรู้อย่างงเหมาะสม
• การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งนั้นเป็นการแยกส่วน
แยกส่วนจากชีวิตและสังคมหรือการอยู่ร่วมกัน
ความปรารถนาสูงสุของมนุษย์ คือ การมีชีวิตที่มีความสุขหรือสุขภาวะและมีการอยู่ร่วมกัน (สังคม) ด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ควรเรียนรู้ในเรื่องนั้น และทำสิ่งนั้นให้สำเร็จนั่นคือการศึกษาควรจะเอาชีวิตและสังคมเป็นตัวตั้ง แต่การศึกษาได้แยกส่วนไปเอาวิชาตัวตั้ง นั่นคือชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง โดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง
• อะไรที่แยกส่วนจากชีวิตและการอยู่ร่วมกันจะนำไปสู่วิกฤตการณ์เสมอ
อย่างเช่นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่ไปเอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง หรือเอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง หรือเอาตลาดเสรีเป็นตัวตั้ง นำไปสู่วิกฤตการณ์อย่างรุนแรงต่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน
ความรู้มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ตัวตั้ง เพราะความรู้มีข้อจำกัด และมีปัญหาความรู้ไม่มีพลังพอที่จะต้านอำนาจกิเลสได้ จะถูกกิเลสจับกินและนำไปสร้างอำนาจที่ทำร้ายผู้อื่น ดังที่เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่คมชัดลึกและมีเสน่ห์ แต่ก็ถูกชาวยุโรปเอาไปสร้างเป็นอำนาจที่ไล่ฆ่าฟันแย่งชิงทรัพยากรจากผู้คนทุกทวีปเอาไปสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้ยุโรป แล้วใช้ความมั่งคั่งและอำนาจขึ้นบังคับให้ผู้คนทั้งโลกมามีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม เกิดเป็นอารยธรรมปัจจุบันอารยธรรมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน จึงกำลังเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นวิกฤติอารยธรรม อันไม่มีทางไปในอารยธรรมเดิม มนุษย์กำลังจะต้องก้าวไปสู้การเปลี่ยนอารยธรรม
การเปลี่ยนอารยธรรมต้องการจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) และวิถีคิดใหม่
ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้เนิ่นนานมาแล้วว่า “ ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ เราต้องการวิถีคิดใหม่สิ้นเชิง”
ในสภาวะวิกฤตการณ์ใหญ่ของมนุษยชาติ ระบบการศึกษาจึงไม่ควรส่งเสริมจิตสำนึกเก่าและวิถีคิดเก่า เพราะจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์ให้หนักขึ้น ระบบการศึกษาจึงควรสร้างจิตสำนึกใหม่วิถีคิดใหม่
เราต้องกล้าที่จะออกจากความคิดการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไปสู่ความคิดการศึกษาที่เอาชีวิตและสังคมหรือการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง
5.ชีวิตเรียนรู้จากการปฏิบัติ
ชีวิติเรียนรู้จากการปฏิบัติ เช่น การดูดนม การยืน การเดิน การกิน การพูด การปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนในชุมชน การทำงาน การเล่น สุนทรียกรรมต่างๆ การอยู่ร่วมกัน เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาสุขภาพ การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งการปฏิบัติตามหลักศาสนา
ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกับผู้อื่นในครอบครัวและในชุมชน หรือเรียกว่าการเรียนรู้ในวิถีชีวิตหรือเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม อะไรที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาและมีประโยชน์ก็เรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ จากการปฏิบัติ
การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมนั้นง่าย เพราะมีคนร่วมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ไม่ต้องสอนด้วยวาจาหรือหนังสือ ก็เรียนรู้ได้จากการเห็นผู้อื่นปฏิบัติ ตรงนี้มีประเด็นที่สำคัญที่ควรตั้งใจทำความเข้าใจ
พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเพียงร้อยละ ๕-๑๐ เท่านั้น เกิดจากการเรียนรู้อย่างรู้ตัว ๙๐-๙๕ เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว (Unconscious learning) คือเรียนรู้โดยไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจ แต่เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวจากการเห็นผู้อื่นปฏิบัติ การวิจัยใหม่ได้พบปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเซลล์สมองกระจกเงา (Mirror neurons) กล่าวคือเมื่อคนหรือสัตว์เห็นคนอื่นหรือตัวอื่นปฏิบัติอะไร มันสะท้อนเข้าไปสู้เซลล์สมองที่ทำหน้าที่นั้นๆของผู้เห็น ทำให้ทำอย่างเดียวกันได้เลยโดยไม่ต้องไปสั่งสอน
ในฐานวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน การเรียนรู้จึงง่ายหรือเป็นอัตโนมัติ เพราะคนเขาปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป วัฒนธรรมจึงเป็นเครื่องกำหนดความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติของผู้คนอย่างรุนแรงพอๆหรือยิ่งกว่ายีนหรือกรรมพันธุ์ มีผู้เรียกปัจจัยทางวัฒนธรรมว่าเป็น Meme โดยที่ทั้ง Gene และ Meme ร่วมกันกำหนดชีวิตจิตใจของคนเกือบทั้งหมด
การที่ให้เราไปเรียนรู้ภาษาใดภาษาหนึ่งนอกวัฒนธรรมของเราเป็นเรื่องยากและท้าทายความพยายามอย่างยิ่ง แต่สำหรับเด็กที่โตมาในวัฒนธรรมนั้น การเรียนรู้ที่จะพูดเป็นเรื่องง่ายมากหรือเป็นอัตโนมัติ ดังที่มีคนพูดว่าแม้แต่คนที่โง่ปานใดก็พูดได้ภาษาหนึ่งหรือการเรียนรู้การพูดภาษาต่างประเทศที่ดีที่สุด คือการไปอยู่ท่ามกลางคนที่พูดภาษานั้นๆนี้เพื่อยืนยันคำกล่าวว่าการเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมนั้นง่าย การเรียนรู้โดยการท่องวิชานั้นเป็นการเรียนรู้นอกฐานวัฒนธรรมจึงยาก และทำให้ทำอะไรไม่เป็นเพราะไม่ได้เรียนรู้จากการทำ รวมทั้งการเรียนรู้โดยท่องวิชาศีลธรรมก็ไม่ได้ศีลธรรม ตรงกันข้ามกับคนที่อยู่ในครอบครัวที่มีศีลธรรม หรือในชุมชนที่มีศีลธรรมก็มีศีลธรรมโดยอัตโนมัติ เพราะเรียนรู้โดยไม่รู้สึกตัว
การเรียนรู้ที่ไม่ได้เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งจึงมีความสูญเปล่ามหาศาล และไม่เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เช่น ศีลธรรม จนกระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้มีการศึกษามากมีศีลธรรมน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาน้อย”
ตรงนี้มีประเด็นใหญ่เบ้อเร่อเลยสำหรับการศึกษา
เราอยากให้คนเป็นคนดี เราก็ไปใช้วิธีที่ได้ผลน้อยสุดๆ แต่ใช้เวลาทรัพยากรมหาศาลคือการอบรมสั่งสอน แต่การที่คนจะเป็นคนดีเกิดจากการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัวจากการที่เห็นผู้อื่นปฏิบัติ ด้วยเซลล์สมองกระจกเงาดังกล่าวข้างต้นนั่นคือเรียนรู้จากสังคมที่ดี เช่น ครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ใหญ่กว่านั้น แต่การศึกษาอยู่นอกสังคม แยกผู้เรียนออกมาจากสังคม มาเรียนกันในที่แคบๆ ที่เรียกว่า “โรงเรียน” เด็กนักเรียนยังไม่อยากคุยกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพราะคุยแล้วไม่ได้คะแนน คะแนนไปอยู่ที่การท่องจำความรู้ในตำรา นี่แหละที่เรียกว่าการศึกษาที่แยกส่วนจากชีวิตและสังคม พ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นสังคมใกล้ตัวที่มีทั้งความรักและประสบการณ์ชีวิตที่อาจจะมากกว่าครูที่โรงเรียนเสียอีก
ถ้าการศึกษาเอาชีวิตและสังคมเป็นตัวตั้ง การศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคม ชีวิตและสังคมที่ดีจะเป็นปัจจัยให้การศึกษาดี และการศึกษาดีก็จะเป็นปัจจัยให้ชีวิตและสังคมดียิ่งขึ้น
เราต้องหันมาพูดถึงการเรียนรู้จากการปฏิบัติต่อเพราะเราได้สร้างโปรแกรมการคิดไว้อย่างเหนียวแน่นว่าเมื่อพูดถึงคำว่าการศึกษาทีไร ความคิดจะแล่นปร๊าบไปถึงการท่องหนังสือท่องตำราทันที มองไม่เห็นการเรียนรู้ในการปฏิบัติในวิถีชีวิต เราจะคิดไปโดยอัตโนมัติว่าคนฉลาดคือคนที่รู้หนังสือ คนที่ไม่รู้หนังสือคือคนโง่ ถ้าหันไปดูความจริงในชุมชน จะเห็นว่ามีคนที่ไม่รู้หนังสือจำนวนมากทีเดียวที่เป็นคนฉลาดและเป็นคนดี ขอให้นึกถึงพ่อแม่ของตนเองหรือพ่อแม่ของคนอื่นๆ ดูเถอะ หลายคนมี “การศึกษา” อย่างเป็นทางการน้อย แต่ทำมาหากินเก่งและสอนลูกได้ ตรงข้ามกับคนสมัยใหม่จำนวนมากที่รู้หนังสือ แต่ไม่ฉลาดและไม่เป็นคนดีเลย ที่พูดนี้ไม่ได้แอนตี้การรู้หนังสือแต่อย่างใด แต่เพื่อแสดงว่า การเรียนรู้ในวิถีชีวิตนั้นทำให้เป็นคนฉลาดและเป็นคนดีได้มากๆ ที่โครงการดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ป้าคำไม่รู้หนังสือแต่ทอผ้าเก่งและบริหารจัดการกิจการทอผ้าทั้งโรง อรวรรณ หญิงชาวเขาไม่รู้หนังสือ แต่ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของผ้าที่ทอในโรงงานนั้นทั้งหมด เราจึงต้องระมัดระวังว่าความฉลาดไม่ได้รวมกับการรู้หนังสือไปเสียทั้งหมด มีคนที่รู้หนังสือแต่ไม่ฉลาดเป็นอันมาก แต่มีคนที่รู้หนังสือน้อยแต่ฉลาดมีอยู่ถมไป เป็นความฉลาดเพื่อปฏิบัติ (Practical intelligence) หรืออาจจะเรียกว่าความฉลาดเยี่ยงสามัญชนก็ได้
การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ มนุษย์เรียนรู้จากการทำงาน ในสมัยโบราณไม่มีปัญหาเรื่องการว่างงาน ปัญหาการว่างงานเป็นเรื่องสมัยใหม่ที่ไปแยกการศึกษาออกจากชีวิต แยกการศึกษาออกชีวิตไปเสีย ๑๖ ปี
(ประถม ๖ + มัธยม ๖ + อุดม ๔) เมื่อจบแล้วก็ไม่มีงานทำเพราะที่ศึกษากับงานมันแยกเส้นทางกัน เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจการตกงานหรือการไม่มีงานทำเป็นเรื่องใหญ่มากในโลกตะวันตก เช่น ที่เมืองดีทรอยด์ สหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีการว่างงาน ๒๘.๙ เปอร์เซ็นต์ และกำลังมีความเสื่อมโทรมทุกๆ อย่างตราบใดที่แยกการศึกษาออกจากชีวิต เรื่องการตกงานและการว่างงานจะยังเป็นปัญหาที่ทิ่มแทงมนุษย์ต่อไป
การศึกษาที่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง การศึกษากับงานจะต้องเชื่อมโยงกัน คือศึกษาจากการทำงาน มีรายได้จากการทำงานและการศึก ศึกษาแล้วมีรายได้ ศึกษาแล้วหายจน ไม่ใช่ลูกไปเรียนหนังสือแล้วพ่อแม่ยากจนลง ดังเช่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ครูก็ยากจนด้วยไม่พอกิน ไม่พอใช้ เป็นหนี้เป็นสิน เพราะเราแยกการศึกษาออกไปจากชีวิตและการทำงาน ระบบการศึกษากับการมีสัมมาชีพ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องเชื่อมโยงกัน กล่าวคือสัมมาชีพทำให้มีการศึกษา การศึกษาทำให้มีสัมมาชีพพื้นที่การศึกษาต้องไม่แยกจากชีวิตชุมชน
การเรียนรู้ในวิถีชีวิตสร้างความรู้ใหม่ได้มากมาย เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์เมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีนี้ และสถาปนายุโรปเป็นศูนย์กลางความเจริญของโลก ได้พยายาม “สวมแว่น” ให้คนทั้งโลกเข้าใจผิดว่ายุโรปเป็นต้นตอของความรู้ความเจริญทั้งหลายทั้งปวง
ถ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ดูก็จะพบว่า การเห็นจากการ “สวมแว่น” ดังกล่าวมาจริง ในขณะที่ยุโรปยังเป็นคนป่า ความเจริญได้มีขึ้นที่อื่นก่อนหน้านั้นเนิ่นนาน จนก่อตัวเป็นอารยธรรมใหญ่ๆ เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห หรือแม้แต่อารยธรรมเอเชียอาคเนย์ อารยธรรมเหล่านี้มีความคิดใหญ่ๆ ความรู้หลายอย่าง เช่น การทำกระดาษ การพิมพ์หนังสือ การทำปืน ได้เคลื่อนจากจีนไปตามเส้นทางสายไหมสู่แบกแดด แบกแดดเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และความรู้เหล่านี้เคลื่อนตัวไปสู้ยุโรป
โดยสรุปคือการเรียนรู้ในวิถีชีวิตมีการวิจัยและการสร้างความรู้ใหม่ตลอดเวลา
แต่ไม่ได้วิจัยในห้องแล็ป เราเลยคิดว่าไม่มีการวิจัย ห้องแล็ปของเขาคือชีวิตจริงปฏิบัติ ถ้าไม่มีการวิจัยและสร้างความรู้ใหม่ทำไมเราจะมีผลไม้พันธุ์ดีๆ ทำไมจะมีอาหารไทยที่ติดอันดับเป็นหนึ่งใน ๕ ของอาหารโลก มรดกทางวัฒนธรรมก็คือมรดกก็คือมรดกทางภูมิปัญญา
ถ้าเราเอาแต่ท่องหนังสือมรดกทางภูมิปัญญาจะสูญหายไปประดุจต้นไม้สูญพันธุ์ สัตว์สูญพันธุ์ เมื่อสูญแล้วจะสูญไปเลยไม่กลับคืนมา
การศึกษาจึงมีภาระรีบด่วนที่จะต้องศึกษาในฐานวัฒนธรรมเพื่อรักษามรดกทางภูมิปัญญาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยศานติสุข
วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)